UFABETWIN ซน คีซอง : นักวิ่งเหรียญทองโอลิมปิกเกาหลีที่ต้องลงแข่งในนามญี่ปุ่นอย่างขมขื่น

“มันคือความอัปยศอดสูอย่างเหลือทน” ซน คีซอง กล่าว

8 สิงหาคมเมื่อ 86 ปีก่อน ซน คีชอง สร้างประวัติศาสตร์ คว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกในการแข่งขันวิ่งมาราธอนให้ญี่ปุ่น ในศึกเบอร์ลิน 1936

มันควรจะเป็นความชื่นมื่นแต่กลับเป็นความขมขื่นสำหรับ ซน เพราะเขาไม่ได้เป็นคนญี่ปุ่นแต่เป็นคนเกาหลี ชาติที่โดนญี่ปุ่นรุกรานและยึดครองในตอนนั้น

นักวิ่งจากอาณานิคม

ซน คีชอง ต้องพบกับชะตากรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้มาตั้งแต่เกิด เมื่อตอนที่เขาลืมตาดูโลกในปี 1912 เกาหลีบ้านเกิดของเขา ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เข้ายึดครองคาบสมุทรเกาหลีมาตั้งแต่ปี 1910

ในช่วงเวลานั้น ชาวเกาหลี รวมถึงซนต้องเผชิญกับการกดขี่ รวมถึงความพยายามกลืนชาติจากผู้รุกราน ทั้งการถูกบังคับให้เรียนแต่ภาษาญี่ปุ่นในโรงเรียนไปจนถึงต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อญี่ปุ่น

 

 

แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่สามารถหยุดยั้งพรสวรรค์ในการเป็นนักวิ่งในตัวซนได้ หลังจากเขาเริ่มฉายแววมาตั้งแต่สมัยเรียนจากการที่เขามักจะไปท้าวิ่งแข่งกับเพื่อนที่ปั่นจักรยานอยู่เสมอ

จนกระทั่งวันหนึ่งโอกาสของซนก็มาถึง เมื่อการท้าวิ่งกับจักรยานของเขาไปเข้าตาครูของโรงเรียน และครูก็มองว่าหากซนได้รับการฝึกซ้อมอย่างดีเขาน่าจะมีอนาคตไกล จึงได้ตัดสินใจส่งเขาไปเรียนต่อที่โซล

และมันก็ทำให้ซนได้พบกับโค้ช อี ซุนอิล ที่ฝึกฝนเขาอย่างหนัก ด้วยการให้วิ่งไปพร้อมกับก้อนหินที่ผูกไว้ข้างหลัง หรือเอาทรายใส่กระเป๋าทั้งสองข้างที่จะทำให้เขาแข็งแกร่งและอึดขึ้น

การสอนของโค้ชเป็นไปด้วยดีและทำให้ซนมีฝีเท้าที่พัฒนาขึ้น เขาเริ่มจากการวิ่ง 1,500 เมตรและ 5,000 เมตร ก่อนจะเปลี่ยนมาวิ่งระยะไกล หลังเข้าเส้นชัยเป็นที่หนึ่งในระยะ 8 ไมล์ในปี 1933

หลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นนักวิ่งที่น่าจับตาภายในจักรวรรดิญี่ปุ่น หลังชนะการแข่งขันมาราธอนถึง 9 ครั้งจาก 12 ครั้ง ในระหว่างปี 1933-1936 รวมถึงโตเกียว มาราธอน ในปี 1935 ที่เขาทำลายสถิติโลกของ ฮวน คาร์ลอส ซาบาลา เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 1932 ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 26 นาที 42 วินาที

 

ในปี 1936 ผลงานของซนก็ยังไม่แผ่ว เขาวิ่งเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 3 ในรอบคัดเลือกโอลิมปิก 1936 และทำให้เขาได้สิทธิ์ ไปแข่งมาราธอนร่วมกับเพื่อนชาวเกาหลีอย่าง นัม ซุงยอง และ ทามาโอะ ชิวาคุ ที่เบอร์ลิน

มันน่าจะเป็นความตื่นเต้นและความยินดีกับการได้ไปโชว์ฝีเท้าในโอลิมปิกเป็นครั้งแรกในชีวิตกับการแข่งขันที่ญี่ปุ่นไม่เคยได้เหรียญทองมาก่อน ทว่ามันกลับจบลงด้วยความขมขื่น

ลงแข่งในนามของศัตรู

แม้ว่าจะได้ไปวิ่งมาราธอนในโอลิมปิก แต่ ซน และ นัม ก็ต้องลงแข่งในนามของญี่ปุ่น ชาติที่รุกรานและยึดครองบ้านเกิดของพวกเขา แถมยังต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อญี่ปุ่นในการแข่งขัน โดย ซน ใช้ชื่อว่า คิเตอิ ซน ส่วน นัม คือ โชริว นัน

มันทำให้ซนพยายามประท้วงในสิ่งนี้ตลอดเวลาที่เขาอยู่ที่เบอร์ลิน เขามักจะบอกว่าเขาไม่ใช่คนญี่ปุ่น รวมถึงเซ็นชื่อตัวเองด้วยอักษรเกาหลี พร้อมวาดภาพคาบสมุทรเกาหลี (บางแหล่งข้อมูลระบุว่าเป็นธงเกาหลี) ไว้ข้างลายเซ็น

 

แต่ซนก็หนีมันไม่พ้น เมื่อสุดท้ายเขาต้องลงแข่งภายใต้ธงอาทิตย์อุทัยของศัตรู ในวันที่ 9 สิงหาคม 1936 ที่เริ่มออกสตาร์ทที่ โอลิมปิก สเตเดียม ในกรุงเบอร์ลิน เวลา 15:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น

 

ในช่วงแรกทุกคนดูเหมือนจะเก่งกว่าเขา โดยเฉพาะ ซาบาลา แชมป์เก่าเมื่อ 4 ปีก่อนที่ออกนำซนไปถึง 3 ไมล์ หรือราว 90 วินาที ทำให้นักวิ่งเลือดเกาหลีพยายามไล่ตาม แต่ก็มาถูกเบรกจาก เอร์เนส ฮาร์เปอร์ นักวิ่งชาวอังกฤษ

“ทำใจให้สบาย ปล่อยให้ซาบาลาวิ่งให้เหนื่อย” ฮาร์เปอร์ บอกกับซน

 

UFABETWIN

 

แม้ว่าซนจะพูดอังกฤษไม่ได้แต่เขาก็เข้าใจในสิ่งที่ฮาร์เปอร์สื่อ และทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจวิ่งไปด้วยกัน ซึ่งก็เป็นไปอย่างที่ฮาร์เปอร์ คาดไว้ เมื่อในไมล์ที่ 19 ซาบาลาเหนื่อยจนโซซัดโซเซและล้มลงจนต้องออกจากการแข่งขัน

 

“ผมมั่นใจว่าผมจะชนะ แต่ตอนที่ออกสตาร์ทผมเห็นนักวิ่งเก่ง ๆ วิ่งผ่านผมไป หลังจากผ่าน 10 กิโลเมตรแรกผมก็เริ่มเห็นพวกเขาออกจากการแข่งขัน ผมเลยคิดว่า ‘บางทีผมอาจจะชนะการแข่งขันครั้งนี้'” ซน เมื่อปี 1988

หลังจากนั้นในช่วง 2 ไมล์สุดท้ายซนก็ขึ้นมาเป็นผู้นำ โดยมีฮาร์เปอร์ตามมาห่าง ๆ ก่อนที่สุดท้ายเขาจะเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 29 นาที 19 วินาที โดยมีฮาร์เปอร์เป็นที่ 2 ตามหลังเขาอยู่ 2 นาที และนัมเพื่อนร่วมชาติของเขาเป็นที่ 3

 

“ตลอด 4 ปีผมฝึกซ้อมมาเพื่อเป้าหมายนั้น ถ้าผมแพ้ 4 ปีที่ผ่านมามันคงสูญเปล่า ความพอใจแบบนั้นเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับคนที่ไม่เคยอยู่ในสถานการณ์นั้นจะเข้าใจ มันคือการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ระดับชาติสำหรับผม และผมก็ชนะ” ซน อธิบายต่อ

การเข้าเส้นชัยเป็นที่ 1 ไม่เพียงทำให้ซนคว้าเหรียญทองเท่านั้น แต่มันยังทำให้เขาเป็นนักวิ่งจากญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เหรียญทองมาราธอนในโอลิมปิก

 

อย่างไรก็ดีความรู้สึกอิ่มเอมก็อยู่กับเขาได้ไม่นาน

เหรียญทองที่แสนเศร้า

หลังจากการแข่งขัน ซนก็ได้ขึ้นมาอยู่บนจุดสูงสุดของโพเดียมและได้รับเหรียญทองไปคล้องคอ ทว่าในช่วงของการบรรเลงเพลงชาติซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาที่ภาคภูมิใจที่สุดของนักกีฬา เขากลับก้มหน้าและมีแววตาที่โศกเศร้า

ซนบอกภายหลังในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองว่ามันคือช่วงเวลาแห่ง “ความอัปยศอดสูอย่างเหลือทน” เพราะเพลงชาติและธงชาติที่ขึ้นอยู่ยอดเสาเป็นของญี่ปุ่น ชาติที่เขาพยายามบอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นมาโดยตลอด

“ตอนที่ผมขึ้นไปยืนอยู่บนแท่นและเพลงชาติบรรเลงพร้อมกับเชิญธงขึ้น มันเป็นตอนที่ผมรู้สึกเสียใจกับคนที่ไม่มีประเทศ นั่นคือผม คนเกาหลีที่ชนะการแข่งขันภายใต้ธงชาติและเพลงชาติของญี่ปุ่น” ซน ย้อนความหลัง

 

เขายิ่งปวดใจเมื่อเห็นฮาร์เปอร์ที่ได้เหรียญเงินมองไปที่ธงของสหราชอาณาจักรอย่างภาคภูมิใจ แล้วย้อนกลับมาคิดว่าทำไมบ้านเกิดของเขาอย่างเกาหลีจึงไม่มีโอกาสอย่างนี้บ้าง

“สำหรับตัวผมทั้งที่อันดับ 3 ก็เป็นคนเกาหลีเหมือนกัน แต่พวกเราต่างก้มหัวลง เรากำลังร้องไห้ มันไม่ใช่เพราะชัยชนะแต่เป็นน้ำตาแห่งความโศกเศร้าและความคับข้องใจที่มันไม่ใช่ชัยชนะของเรา” ซน กล่าวต่อ

 

แต่ซนก็ไม่ได้ยอมแพ้ เขาพยายามใช้ความสำเร็จนี้เป็นเครื่องมือในการประท้วงญี่ปุ่น โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ว่า เขาเป็นคนเกาหลีไม่ใช่ชาวญี่ปุ่น แต่ผู้ดูแลกลับปฏิเสธที่จะแปลในสิ่งที่เขาพูด

“ซนตระหนักดีถึงแนวคิดของการถูกยึดครองจากต่างชาติ และเขาก็พยายามจะพูดเรื่องนี้ในการแถลงข่าว” เดวิด วอลเลชินสกี นักประวัติศาสตร์โอลิมปิก

เขายังพยายามที่จะสื่อว่าการรุกรานของญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ตอนที่แถลงข่าวกับสื่อ ด้วยการเน้นคำว่า “ยึดครอง”  ในตอนที่ตอบคำถามถึงเบื้องหลังของความสำเร็จของเหรียญทองประวัติศาสตร์

“ร่างกายของมนุษย์สามารถทำอะไรได้มากทีเดียว จากนั้นหัวใจและจิตวิญญาณจะเข้ามายึดครอง” นี่คือประโยคที่ซนบอกกับสื่อ

 

UFABETWIN

 

อย่างไรก็ดีการคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกของซนก็ได้สร้างความภูมิใจให้แก่ชาวเกาหลี โดยหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์รายวันของเกาหลีที่ยังตีพิมพ์อยู่ในปัจจุบัน ได้เอารูปของซนขึ้นหน้าหนึ่งแต่ลบธงชาติญี่ปุ่นออก

แม้ว่าการกระทำครั้งนั้นจะทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นลงโทษ ด้วยการปิดหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 9 เดือน พร้อมจับนักข่าวและผู้เกี่ยวข้องกับหนังสือพิมพ์เข้าคุกและนำไปทรมาน แต่มันก็ทำให้ชาวเกาหลีมีความหวังที่จะหลุดพ้นจากการยึดครองของญี่ปุ่น

“มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของคนเกาหลี” มุน ยุนซุค รองประธานบริษัทที่ทำสารคดีให้ SBS

“ซนทำให้เรามีความหวังที่จะเป็นอิสระ และแสดงให้เห็นว่าเราเก่งกว่าชาวญี่ปุ่น”

วีรบุรุษเกาหลี

แม้จะเป็นนักกีฬาประวัติศาสตร์ แต่ชีวิตหลังโอลิมปิกของซนกลับไม่ได้สวยหรู เมื่อเขาถูกห้ามลงแข่งวิ่งอย่างถาวรและถูกจับตามองอย่างเข้มงวด เพราะเกรงว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องปลุกระดมชาวเกาหลีในการแยกตัวเป็นอิสระ

นอกจากนี้สถานะของเขายังถูกใช้เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ ดึงดูดให้เด็กหนุ่มชาวเกาหลีเข้ามาเป็นทหารในกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งซนบอกว่ามันคือ “ความเสียใจที่สุด” ในชีวิตของเขา

อย่างไรก็ดีหลังปี 1945 ซนก็ได้เป็นอิสระ เมื่อญี่ปุ่นกลายเป็นผู้แพ้ในสงครามโลก และทำให้คาบสมุทรเกาหลีได้รับการปลดปล่อย และทำให้ซนได้กลับเข้าสู่วงการวิ่งอีกครั้งในฐานะโค้ชของเกาหลี ชาติบ้านเกิดที่แท้จริงของเขา

ในปี 1950 ซนได้นำลูกศิษย์พร้อมด้วยธงเกาหลี ลงแข่งในบอสตัน มาราธอน ก่อนที่หลังจากนั้นจะเป็นโค้ชให้ทีมชาติเกาหลีใต้อีกถึง 42 ปี

เขายังได้เป็นสักขีพยานในโมเมนต์สำคัญที่ ฮวาง ยองโช นักวิ่งที่เขาปลุกปั้น คว้าเหรียญทองในการแข่งขันมาราธอน ในโอลิมปิก 1992 ที่บาร์เซโลน่า เนื่องจากเป็นการเบียดแย่งมาจาก โคอิจิ โมริชิตะ นักวิ่งชาวญี่ปุ่น ชาติคู่รักคู่แค้นของพวกเขา

หลังการแข่งขันฮวางได้มอบเหรียญทองเหรียญนี้ให้แก่ซนผู้มีพระคุณของเขา จนทำให้ซนถึงขั้นพูดว่า “ตอนนี้ผมสามารถตายได้โดยไม่เสียใจอะไรอีกแล้ว”

ในขณะเดียวกันชื่อของซนยังถูกจารึกไว้ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์เกาหลี ในฐานะผู้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ แถมในปี 1986 เขายังได้รับการเปลี่ยนชื่อและสัญชาติให้กลับมาเป็นเกาหลีบนอนุสาวรีย์นักวิ่งมาราธอนที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

แต่ที่พิเศษที่สุดคือในปี 1988 ซนได้รับเกียรติให้เป็นผู้วิ่งคบเพลิงคนสุดท้ายในพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก 1988 ที่กรุงโซล และนั่นเป็นการแข่งขันที่เป็นสัญลักษณ์ว่าพวกเขาได้เปลี่ยนแปลงจากการปกครองแบบเผด็จการมาเป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการ

“เขาเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง” วาเลชินสกี

“เขาวิ่งผ่านอุโมงค์พร้อมคบเพลิง และทุกคนก็รู้ว่าเขาคือใครโดยไม่ต้องบอก ช่วงเวลาดังกล่าวมีเสียงคำรามจากอัฒจันทร์ที่ดังมาก เขากระโดดขึ้นไปในอากาศ และดูเหมือนทุกคนบนนั้นมีสายสัมพันธ์เชื่อมถึงกัน”

ซน คีชอง เสียชีวิตในปี 2002 ด้วยโรคปอดอักเสบในวัย 90 ปี แต่ชื่อของเขายังคงถูกพูดถึงในฐานะ “ความภาคภูมิใจของชาติ” และได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษของคนเกาหลี ซึ่งต่างจากในญี่ปุ่นที่มีเพียงป้ายเล็ก ๆ ระบุว่าเขาคือนักวิ่งมาราธอนเหรียญทองโอลิมปิก และคนวิ่งคบเพลิงของโซล 1988 เท่านั้น

ดังนั้นสำหรับชาวเกาหลี ซน คีชอง คือตัวอย่างของการไม่ยอมจำนน แม้จะถูกกดขี่และต้องลงแข่งในนามของศัตรู แต่มันก็พิสูจน์ให้เห็นว่าตราบใดที่ใจไม่ยอมแพ้ก็ไม่มีสิ่งใดที่สามารถกักขังเขาเอาไว้ได้

“ชาวญี่ปุ่นสามารถห้ามนักดนตรีไม่ให้เล่นเพลงของเรา พวกเขาสามารถห้ามนักร้องของเราไม่ให้ร้องเพลง และทำให้นักพูดของเราเงียบเสียง” ซน กล่าวเอาไว้ไม่นานก่อนเสียชีวิต

“แต่พวกเขาไม่สามารถห้ามผมจากการวิ่งได้”

UFABETWIN